
อีกเพียงชั่วข้ามคืนก็จะสิ้นปี 2565 ลาทีปี “เสือดุ” และก้าวสู่ปีพุทธศักราช 2566 ปี “กระต่ายปราดเปรียว”
การศึกษา ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาแวดวงการศึกษาชาติถูกพูดถึงจากคนในสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่ง “ซ่อม–สร้าง” และยกระดับคุณภาพการศึกษาให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาหลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 3 ปี การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ทิ้งร่องรอยผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เด็กนักเรียนไม่สามารถไปเรียนหนังสือตามปกติ ที่โรงเรียนได้ ศธ.ต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนตามความพร้อมของแต่ละแห่ง ใน 5 รูปแบบ ได้แก่ 1.ON–AIR 2.ONLINE 3. ON-DEMAND 4.ON-HAND และ 5.ON–SITE แต่ก็ต้องยอมรับว่า 5 รูปแบบนี้ อาจทำได้ดีในบางโรงเรียน แต่ในบางโรงเรียนยังขาดความพร้อมในการดำเนินการ ผลลัพธ์คือ สถานการณ์การเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนเดินไปคนละทิศละทาง เกิดความเหลื่อมล้ำในแง่ของการเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ กระทรวงศึกษา (ศธ.) ภายใต้การนำของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ และ นางกนกวรรณวิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ จึงประกาศเดินหน้า 5 นโยบายเร่งด่วนได้แก่ 1.โครงการพาน้องกลับมาเรียน 2.โครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ 3.โครงการสถานศึกษาปลอดภัย (MOE Safety Center) 4.โครงการโรงเรียนคุณภาพ และ 5.โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อพลิกสถานการณ์การศึกษาไทยที่ตกอยู่ในสภาพเครื่องสะดุด เกิดภาวะการศึกษาถดถอยจนน่าห่วง ตลอดปี 2565 หรือ 1 ขวบปีที่ผ่านมา 5 นโยบายเร่งด่วนของ ศธ.ขับเคลื่อน และช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาได้จริงหรือไม่? คือคำถามของสังคม ซึ่ง “ทีมการศึกษา” ขอใช้โอกาสวันส่งท้ายปีเก่า 2565 ฉายภาพแต่ละโครงการให้เห็นกันชัดๆ เริ่มที่ โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน”
เป็นโครงการที่ถูกหยิบยกเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่หลุดจากระบบการศึกษาอันเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทำ MOU ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ข่าวการศึกษา กับ 11 หน่วยงาน พร้อมจัดทำแอปพลิเคชัน “ตามน้องกลับมาเรียน” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งล่าสุดทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ.สามารถตามเด็กกลับเข้าระบบการศึกษาได้เกือบ 100% ภาพรวมของโครงการฯจึงช่วยสกัดเด็กหลุดระบบการศึกษาได้ค่อนข้างดี และได้รับเสียงชื่นชมจากเครือข่ายภาคสังคมต่างๆไม่น้อย ขณะที่ โครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” เกิดขึ้นมา โดยมีเป้าหมายนำเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา มีฐานะยากจน และอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ตกหล่นจากระบบการศึกษา ให้ได้รับการศึกษาสายอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ โดยดึงสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เข้าร่วม 170 แห่ง แต่น่าเสียดายที่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ที่ผ่านมาสถานศึกษาอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ระยะที่ 1 ปีงบประมาณ 2565 จำนวน 88 แห่ง รับนักเรียนเข้าเรียนรุ่นที่ 1 ไปแล้ว จำนวน 4,074 คน ยังขาดความพร้อมพอสมควร ทำให้มีเด็กสนใจสมัครเข้าเรียนค่อนข้างน้อย ทั้งที่เรียนฟรี อยู่ฟรี และมีรายได้ระหว่างเรียน แต่ที่พอจะทำให้เบาใจได้บ้างคือ ในภาคเรียนที่ 2 ได้มีการจัดงบฯ ซ่อมแซมอาคารหอพักที่มีอยู่เดิม หรืออาคารเรียน เพื่อใช้เป็นอาคารหอพักชั่วคราวในสถานศึกษา 82 แห่งที่เหลือ และจะก่อสร้างอาคารหอพักในวิทยาลัยการอาชีพอีก 38 แห่ง เพื่อรับนักเรียนรุ่นที่ 2 พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับผู้ปกครองมากขึ้น โครงการ “สถานศึกษาปลอดภัย” (MOE Safety Center) เกิดจากปัญหาความไม่ปลอดภัยในสถานศึกษา ทั้งเหตุความรุนแรง การละเมิด หรือรวมไปถึงความชำรุดของอาคารสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหา จะเกิดความล่าช้าในการแก้ไขมาก ศธ.จึงสร้างช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนมายังส่วนกลาง เพื่อให้เด็กแจ้งความเดือดร้อนแบบ real time มีการเปิดตัว แอปพลิเคชัน MOE Safety Center เป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนกลาง และมี “ระบบการดูแลนักเรียนและครูด้าน Mental Health ในสถานศึกษา” ใช้ตรวจสภาพจิตใจเด็กและครู ผ่าน แพลตฟอร์ม School Health Hero เพื่อคัดกรอง ดูแลช่วยเหลือนักเรียน รวมทั้งจะมีแผนเผชิญเหตุและผู้ให้คำปรึกษาเด็ก และครูในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ
แนะนำข่าวการศึกษา อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กเลย : ผ่าร่าง กม.การศึกษาฯ ถึงเวลาต้องเดินหน้าปฏิรูป!!